วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อยากบอกความในใจ

            ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาเรียน กับอาจารย์ ดร.ประกอบ ใจมั่น ดิฉันมีต้นทุนความรู้เรื่องเทคโนออนไลน์แค่ snake - snake, fish -fish แค่ได้ใช้สื่อสารกับลูก ๆ บ้าง  เพราะลูกบังคับให้ต้องใช้ โดยให้เหตุผลว่า "ถ้าแม่ไม่ใช้ แม่จะเป็นคนเชยของสังคมยุคใหม่" อ้าว ..ใช้..ก็ใช้น่า.. วันนี้ทำไม่ได้ ค่อยว่ากันวันหลัง และมักจะอ้างกับตัวเองว่า "เราไม่มีเวลา" ทั้ง ๆที่จริงถ้าเราพยายามให้มี มันก็หาจนได้ เปรียบเหมือนหนุ่มเิ่ริ่มจีบสาว เหนื่อยแทบขาดใจ ยังอุตส่าห์ไปให้เห็นหน้า  แล้วถ้าเราเอาความรู้สึกนั้นมาใช้กับการเรียนรู้ เทคโนฯสมัยใหม่ ก็คงไม่ไกลจากความเป็นจริงที่เราจะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว แต่เราก็ไม่ใช้มัน  มักอ้างว่าเราแก่แล้วคงไม่เป็นไร

             แต่วันนี้คือความจริงท่านอาจารย์สอนพวกเราเหมือนบังคับ เพราะต้องส่งงานให้อาจารย์ให้คะแนน  ให้เราต้องทำให้ได้ ท่านเอานำ้ถังใหญ่ ๆสาดใส่พวกเรา(ที่แก่ ๆ )จนเปียกปอน ต่างเป็นไข้กันงอมแงมไปหมด แล้วก็จับพวกเราซัดเข้าไปในถ้ำ ให้เราเดินคลำทางไปเรื่อย ๆ เพื่อหาทางออก ไปทางนี้ได้หน่อย เห็นว่าผิดแล้วก็กลับ  พอจะไปใหม่ไปไม่ถูก  เออ..เราไปอย่างไรนะเมื่อกี้..แล้วก็ลองใหม่ตามประสาคนแก่...มันเหมือนจะหมดแรง.. และแล้ว...มันก็เริ่มเห็นประกายแสงสว่างอยู่รำไร  ..เริ่มมีความหวัง...เราไม่ตายแล้ว..จากนี้ไปเราคงมีคนมารับเราไปเยียวยาให้มีแรง ลุกขึ้นมาสู้ใหม่....สู้ไปให้ถึงที่สุด ท่านผู้นั้นเป็นใครไปไม่ได้นอกจากท่าน อาจารย์ดร.ประกอบ  ใจมั่น  ที่สุด ท่านเอาผ้าขนหนูแสนนุ่ม และแสนอบอุ่นผืนใหญ่มาเช็ดตัวให้ และโอบพวกเราไว้ จนพวกเราหายหนาวสั่น เริ่มให้ยาและอาหาร จนพวกเราฟื้นตัวจากความเจ็บป่วย มีแรงเดิน และจะเดินไปกับอาจารย์ต่อไปเมื่อหายดีแล้ว


จากศิษย์(ที่แก่)ของอาจารย์


ป.ล แม้ไม่มีแรงมาเรียน ร่างกายมันน๊อค แต่ติดตามงานอาจารย์เกือบทุกวันคะ
ขอขอบคุณอาจารย์อย่างสูง

          

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Human Penetrator การมองทะลุแก่นแท้ของมนุษย์
ขงจื๊อเป็นนักคิดคนสำคัญยิ่งของโลก เป็นทั้งนักการศึกษา นักรัฐศาสตร์ นักปรัชญา และที่สำคัญคือเป็นผู้ที่ทรงอิทธิพล ทางความคิด มากที่สุด ในแผ่นดินจีน คำสั่งสอนของขงจื๊อเป็นรากฐานทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมของทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีมาจนถึงปัจจุบัน
แนวคิดของขงจื๊อไม่เพียงแต่เน้นให้คนมีคุณธรรม แต่ยังเป็นแนวทางนำไปสู่ความมีอัจฉริยะภาพ คือทำให้รู้ว่าในเวลาหนึ่ง คนเราควร จะคิดอะไร วางตัวอย่างไร คบเพื่อนแบบไหน เพื่อทำให้เราใช้ศักยภาพและเวลาที่มีจำกัด ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง มากที่สุดแก่น คำสอนของขงจื๊อสรุปได้เป็น 5 หัวข้อ ดังนี้
1. บุคลิกภาพของมนุษย์ที่แท้
มนุษย์ที่สมบูรณ์แบบของขงจื๊อ คือคนมีบุคลิกโดดเด่นเหนือคนทั่วไป มีพลังดึงดูด โน้มน้าวใจคน และมีคุณธรรมเที่ยงตรง ทำให้มีอำนาจเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป คุณลักษณะ 7 ประการที่จะช่วยให้มนุษย์มีพลังอำนาจตามวิธีคิดของขงจื๊อ คือ
  • นอบน้อม เพราะคนนอบน้อมจะไปทำอะไร ที่ไหน ย่อมไม่เป็นที่เกลียดชังของคนทั่วไป
  • เมตตากรุณา เพราะคนมีเมตตากรุณา มักจะมี positive aura บนใบหน้าที่ทำให้สามารถเอาชนะใจคนได้โดยง่าย
  • จริงใจ เพราะจะส่งผลให้มีบุคลิกซึ่งเป็นที่ไว้วางใจของผู้อยู่เหนือกว่า ผู้ใต้บังคับบัญชา และบุคคลทั่วไป
  • จริงจัง เพราะย่อมทำทุกสิ่งทุกอย่างลุล่วงลงได้
  • ใจคอกว้างขวาง เพราะย่อมใช้ให้คนทำงานแทนได้ และสามารถเป็นผู้นำที่ดีได้
  • ไม่กินอิ่มเกินไป ไม่แสวงหาความสะดวกสบายจนเกินไป เพราะจะทำให้กลายเป็นคนเกียจคร้าน ไม่แสวงหาหนทางปรับปรุงชีวิต พัฒนาตนเองในขณะที่ยังมีกำลังวังชา และสติปัญญาสมบูรณ์
  • มีอารมณ์มั่นคง ไม่หวั่นไหวง่าย ถ้ากล่าวแบบคนสมัยใหม่ ก็คือการมี EQ สูง
2. วิธีคิดของผู้มีปัญญา
คนเราเกิดมา มีปัญญาสูงต่ำไม่เท่ากัน มีโอกาสในการศึกษาไม่เท่ากัน แต่ขงจื๊อเห็นว่าในชีวิตประจำวันคนเราสามารถค่อย ๆ สร้างสม พัฒนาสติปัญญาให้ได้ด้วยตนเอง โดยการเปลี่ยนปรับวิธีคิดเสียใหม่ เลิกคิดปรุงแต่ง และคิดถึงเรื่องไร้สาระ และหันมาพิจารณาเฉพาะเรื่อง ที่เป็นประโยชน์แทน ดังนี้
  • มนุษย์ที่แท้ จะต้องพิจารณาอยู่เสมอว่า ทำอย่างไร เราจึงจะมองอะไรแล้วสามารถจะเห็นและเข้าใจสิ่งนั้นทะลุปรุโปร่ง และเมื่อได้ยินอะไรแล้ว ทำอย่างไรเราจึงจะฟังให้เข้าใจได้หมดซึ่งก็คือ การใช้สมาธิตั้งใจดู ตั้งใจฟัง นั่นเอง ปัญหาของจำนวนมาก คือ ดู เห็น ฟัง แล้วเข้าใจไม่หมด ตีความผิด ตีความเข้าตนเอง เอาตนเองเป็นที่ตั้งอยู่ตลอด ถ้าแก้ไขจุดนี้ได้ เราก็จะมีฐานข้อมูล ที่ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งต้องใช้ประกอบการคิด การตัดสินใจต่อไป
  • อย่าคิดกังวลว่า ใครจะยอมรับยกย่องเราหรือไม่ แต่ให้เป็นกังวลมาก ๆ ว่า ขณะนี้เรายังขาดคุณสมบัติข้อใด ที่ทำให้ยังไม่เป็นที่ยกย่อง ของผู้คน และอย่าเป็นกังวลว่า คนอื่นจะไม่รู้จักนิสัยใจคอของเรา แต่ให้กังวลว่า ตัวเราจะไม่รู้จักนิสัยใจคอของคนอื่นดีกว่าจุดนี้คือ ขงจื๊อต้องการให้คนเราเน้น การพิจารณา เข้าใจ และปรับปรุงตนเอง ในขณะที่แนวโน้มของคนโดยทั่วไปจะชอบ "ส่องนอก ไม่ส่องใน" และใช้เวลาไปกับการจับผิด วิพากษ์วิจารณ์คนอื่นเสียมาก
  • เวลาเห็นช่องทางได้ผลประโยชน์ ต้องคิดถึง ความยุติธรรม ด้วยขงจื๊อเห็นว่า มนุษย์เรามีแนวโน้มจะคิดแบบเห็นแก่ได้ และตัดสินใจ ผิดพลาด เมื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น เพื่อจะไม่ทำผิดคุณธรรม คนเราต้องพิจารณาเรื่อง ความยุติธรรมอยู่เสมอ ๆ ความยุติธรรมที่ให้พิจารณาก็คือ หลักการง่าย ๆ ถ้าเราไม่ชอบอะไร รังเกียจอะไร ก็จงอย่าทำกับคนอื่นแบบนั้น คิดได้แค่นี้
  • นอกจากนี้ ขงจื๊อยังให้ข้อเตือนใจไว้ว่า เกิดมาเป็นมนุษย์ต้องหัดคิดคิดการณ์ไกล เพื่อจะได้ไม่ต้องหลงทางนอกจากนี้ เวลาร่ำเรียนศึกษา ก็ต้องหัดคิดตาม เพราะคนที่ศึกษาหาข้อมูลต่าง ๆ โดยไม่คิด ย่อมไม่ฉลาดมากนัก ในทางตรงกันข้าม คนที่เอาแต่คิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆ โดยไม่ชอบศึกษาหาข้อมูล ก็จะเป็นเพียงการคาดเดาหรือ speculation ย่อมจะคิดผิดพลาดได้ง่าย ๆ ดังนั้น คนเราต้องหัดฝึกฝน การคิดและการศึกษาหาข้อมูลไปพร้อม ๆ กัน
3. ระเบียบวินัย
ขงจื๊อกล่าวถึงระเบียบวินัย 3 ประการ ของคนวัยต่าง ๆ กัน
  • วัยหนุ่มสาว พลังยังไม่มั่นคง ต้องมีวินัยเรื่องกามคุณ
  • วัยกลางคน พลังกายใจเข้มแข็งมากที่สุด ต้องมีวินัยเรื่องความพึงพอใจ อย่างเพิ่งเฉยชาหรือพอใจกับอะไรง่าย ๆ
  • วัยชรา หมดเรี่ยวแรง พลังงานลดถอย ต้องมีวินัยกับความโลภ คืออย่ามีความต้องการมากมายไม่มีที่สิ้นสุด
4. การคบคน
ขงจื๊อเชื่อว่า ชีวิตคนเรา จะสุข ทุกข์ ประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคนที่เราจะเข้าไปเกี่ยวข้องคบหาด้วย ดังนั้น ขงจื๊อจึงมีกฎในการเลือกคบคน ดังนี้
  • ข้อแรก ไม่คบหาคนที่มีคุณงามความดีไม่เท่าเรา
  • ข้อสอง ไม่แสวงความเห็น หรือปรึกษาหารือคนที่มีเส้นทางชีวิตไม่เหมือนเรา
  • ข้อสาม คนที่ควรคบหา คือ คนที่มีความซื่อตรง จริงใจ และมีความรู้
  • ข้อสี่ พึงเลี่ยงคบหาบุคคลที่เสแสร้ง พูดจาไร้สาระ ฉวยโอกาส ฟุ้งเฟ้อ
  • ข้อห้า เมื่อคบหาใครเป็นเพื่อนแล้ว จงมีความจริงใจต่อกัน แต่อย่าปล่อยให้เขาชักนำเราไปในทางที่ต่ำ
5. การพูด
คำพูดของเราต้องแสดงออกถึงความซื่อตรง สอดคล้องกับกริยาทางกาย เพราะถ้าหากคำพูดเราเกิดพร้อมกับกริยามุ่งมั่นจริงใจ พูดสิ่งใดก็ย่อมประสบผลเป็นที่น่าเชื่อถือ
6. การวางตัว
คนเราจะมีคนรักทั่วทิศ หากวางตัวได้ดังนี้
  • เวลาอยู่นอกบ้านแล้วพบผู้คน วางตัวราวกับคนผู้นั้นเป็นแขกสำคัญในบ้าน
  • เมื่อต้องสั่งการ วางตัวราวกับเราเป็นแม่งานของพิธีการที่สำคัญยิ่งใหญ่ (คนที่เป็นแม่งานจะต้องเห็นภาพงานทุกอย่าง ตั้งแต่ต้นจนจบ อย่างรอบด้าน และมีจิตมุ่งมั่นต้องการทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ในระยะเวลาที่ตั้งใจเอาไว้ เพราะฉะนั้นเวลาคนเป็นแม่งานสั่งงาน จะไม่สักแต่ว่าขอให้ใครทำอะไร แต่จะคิดอย่างรอบคอบถึงผลที่ตามมา จะไม่สั่งการแบบขอไปที แต่จะต้องมีการติดตามผล แนะนำเพื่อให้งานลุล่วงไปได้)
  • อะไรที่เราไม่ชอบ ก็อย่าปฏิบัติต่อคนอื่น
  • เข้มงวดต่อตนเอง แต่ให้อภัยคนอื่น
7. การวางจิต
ขงจื๊อเน้นการมีจิตใจที่ซื่อตรง เขาเห็นว่า ประเทศชาติจะสงบสุขได้ครอบครัวต้องดีก่อน แต่ครอบครัวจะดีได้ มนุษย์แต่ละคนต้องมี คุณธรรมมนุษย์แต่ละคนจะมีคุณธรรม ก็ต้องมีจิตใจที่ซื่อตรงและจิตใจที่ซื่อตรง จะมีได้ก็ต้องมีเจตนาที่ซื่อตรงก่อน ขงจื๊อเน้นจิตที่สามารถมองอะไรชัดเจน ทะลุปรุโปร่ง จิตเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็จากการมองเห็นและรู้จักตนเองอย่างรอบด้านก่อน

ทฤษฎีแรงจูงใจ

ทฤษฎีแรงจูงใจ Motivation Theory
แนวความคิดของการจูงใจมีได้หลายแง่หลายมุม ดังนั้นจึงมีทฤษฎีต่างๆ ที่พยายามอธิบายสภาวะ ของอินทรีย์เช่นนี้และ พอจะแบ่งออกได้เป็น
1. ทฤษฎีเกี่ยวกับสมดุลยภาพและแรงขับ (Homeostasis and drive theory)
พื้นฐานเกี่ยวกับ มโนภาพของแรงขับ คือ หลักการของสมดุลยภาพ (homeostasis) ซึ่งหมายถึง ความโน้มเอียงของร่างกาย ที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมภายในคงที่อยู่เสมอ ตัวอย่าง คนที่มีสุขภาพดีย่อมสามารถ ทำให้อุณหภูมิใน ร่างกายคงที่อยู่ได้ใน ระดับปรกติไม่ว่าจะอยู่ในอากาศร้อนหรือหนาว ความหิว และความกระหาย แสดงให้เห็นถึงกลไกเกี่ยวกับ สมดุลยภาพเช่นกัน เพราะว่าแรงขับดังกล่าว จะไปกระตุ้นพฤติกรรม เพื่อก่อให้เกิดความสมดุลย์ของส่วนประกอบหรือสารบางอย่างในเลือด ดังนั้นเมื่อเรามองในทัศนะของสมดุลยภาพ ความต้องการเป็นความไม่สมดุลย์ทางสรีรวิทยา อย่างหนึ่งอย่างใดหรือเป็น การเบี่ยงเบนจากสภาวะที่เหมาะสม และการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่เกิดตามมาก็คือแรงขับ เมื่อความไม่สมดุลทางสรีรวิทยา คืนสู่ภาวะปกติ แรงขับจะลดลงและการกระทำ ที่ถูกกระตุ้นด้วยแรงจูงใจก็จะหยุดลงด้วย
นักจิตวิทยาเชื่อว่า หลักการของสมดุลยภาพมิได้เป็นเรื่องของสรีรวิทยาเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับจิตใจด้วย กล่าวคือความไม่สมดุลย์ทางสรีรวิทยา หรือ ทางจิตใจ (physiological or psychological imbalance) มีส่วนจูงใจพฤติกรรม เพื่อทำให้ภาวะสมดุลย์กลับคืนมาเช่นเดิม
2. ทฤษฎีของความต้องการและแรงขับ (Theory of needs and drives)
เมื่อทฤษฎีของสัญชาตญาณซึ่งจะได้กล่าวต่อไปนั้นได้รับความนิยมลดลง ได้มีผู้เสนอแนวความคิดของแรงขับขึ้นมาแทน แรงขับ (drive) เป็นสภาพที่ถูกยั่วยุอันเกิดจากความต้องการ (need) ทางร่างกายหรือเนื้อเยื่อบางอย่าง เช่น ความต้องการอาหาร น้ำ ออกซิเจน หรือการหลีกหนีความเจ็บปวด สภาพที่ถูกยั่วยุเช่นนี้จะจูงใจอินทรีย์ให้เริ่มต้นแสดงพฤติกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้น เช่น การขาดอาหารก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีบางอย่างในเลือด แสดงให้เห็นถึงความต้องการสำหรับอาหาร ซึ่งต่อมามีผลทำให้เกิดแรงขับ อันเป็นสภาพของความยั่วยุหรือความตึงเครียด อินทรีย์จะพยายามแสวงหาอาหารเพื่อลดแรงขับนี้ และเป็นการตอบสนองความต้องการไปในตัวด้วย บางครั้งความต้องการและแรงขับอาจถูกใช้แทนกันได้ แต่ความต้องการมักจะหมายถึง สภาพสรีรวิทยาของการที่เนื้อเยื่อขาดสิ่งที่จำเป็นบางอย่าง ส่วนแรงขับหมายถึงผลที่เกิดตามมาทาง สรีรวิทยาของความต้องการ ความต้องการและแรงขับเคียงคู่กัน แต่ไม่เหมือนกัน
3. ทฤษฎีเกี่ยวกับเหตุกระตุ้นใจ (Incentive theory)
ในระยะต่อมาคือ ราว ค.ศ. 1950 นักจิตวิทยาหลายท่านเริ่มไม่พอใจทฤษฎีเกี่ยวกับการลดลงของแรงขับ (drive-reduction theory) ในการอธิบายการจูงใจของพฤติกรรมทุกอย่าง จะเห็นได้ชัดว่าสิ่งเร้าจากภายนอกเป็นตัวกระตุ้นของพฤติกรรมได้ อินทรีย์ไม่เพียงแต่ถูกผลักดันให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ โดยแรงขับภายในเท่านั้น เหตุกระตุ้นใจหรือเครื่องชวนใจ (incentives) บางอย่างก็มี ความสำคัญในการยั่วยุพฤติกรรม เราอาจมองการจูงใจได้ในฐานะเป็นการกระทำระหว่างกัน (interaction) ของวัตถุที่เป็นสิ่งเร้าในสิ่งแวดล้อมกับสภาพทางสรีรวิทยาของอินทรีย์อย่างหนึ่งโดยเฉพาะ คนที่ไม่รู้สึกหิวอาจถูกกระตุ้น ให้เกิดความหิวได้ เมื่อเห็นอาหารที่อร่อยในร้านอาหาร
ในกรณีนี้เครื่องชวนใจคือ อาหารที่อร่อยสามารถกระตุ้นความหิวรวมทั้งทำให้ความรู้สึกเช่นนี้ลดลง สุนัขที่กินอาหารจนอิ่ม อาจกินอีกเมื่อเห็นสุนัขอีกตัวกำลังกินอยู่ กิจกรรมที่เกิดขึ้นมิได้เป็นเรื่องของแรงขับภายใน แต่เป็นเหตุการณ์ภายนอก พนักงาน พอได้ยินเสียงกริ่งโทรศัพท์ก็รีบยกหูขึ้นพูด ดั้งนั้นจึงกล่าวได้ว่าพฤติกรรมที่มีการจูงใจ อาจเกิดขึ้นภายใต้การควบคุมของสิ่งเร้า หรือเหตุกระตุ้นใจมากกว่าที่จะเกิดจากแรงขับ
4. ทฤษฎีเกี่ยวกับสัญชาตญาณ (Instinct theory)
สัญชาตญาณคือแรงทางชีวภาพที่มีมาแต่กำเนิด และเป็นตัวผลักดันให้อินทรีย์แสดงพฤติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดออกมา พฤติกรรม ของสัตว์ ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นเรื่องของสัญชาตญาณ เพราะสัตว์ไม่มีวิญญาณ สติปัญญาหรือเหตุผล เช่น มนุษย์ William McDougall กล่าวว่าความคิดและพฤติกรรมทั้งหมดของคนเราเป็นผลของสัญชาตญาณในหนังสือ Social psychology ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1908 ท่านได้จำแนกสัญชาตญาณต่างๆ ไว้ดังนี้
  • การหลีกหนี (flight)
  • การขับไล่ (repulsion)
  • ความอยากรู้ (curiosity)
  • ความอยากต่อสู้ (pugnacity)
  • การตำหนิตนเอง (self-abasement)
  • การเสนอตนเอง (self-assertion)
  • การสืบพืชพันธุ์ (reproduction)
  • การรวมกลุ่ม (gregariousness)
  • การแสวงหา (acquisition)
  • การก่อสร้าง(construction)
จะเห็นว่าทฤษฎีเกี่ยวกับสัญชาตญาณ ไม่ค่อยจะสมเหตุผลนักในทัศนะของนักจิตวิทยาหลายท่าน
 5. ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตไร้สำนึก (Theory of unconscious motivation)
ฟรอยด์มีความเชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์ถูกกำหนดโดยพลังพื้นฐานสองอย่างคือ สัญชาตญาณแห่งชีวิต (life instincts) ซึ่งแสดงออกมา เป็นพฤติกรรมทางเพศ และสัญชาตญาณแห่งความตาย (death instincts) ซึ่งผลักดันให้เกิดเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว สัญชาตญาณ ทั้งสองอย่างนี้เป็นแรงจูงใจที่ทรงพลังอย่างยิ่งและอยู่ภายในจิตไร้สำนึก บ่อยครั้งคนเรามักจะไม่รู้ว่าอะไรคือ แรงจูงใจ หรือเป้าประสงค์ ที่แท้จริง เขาอาจให้เหตุผลที่ดีบางอย่างสำหรับพฤติกรรมของเขา แต่เหตุผลเหล่านี้มักไม่ถูกต้อง ตามความเป็นจริงอยู่เสมอ
6. ทฤษฎีเกี่ยวกับการรู้ (Cognitive theory)
การรู้ (cognition) มาจากภาษาลาติน แปลว่าการรู้จัก (knowing) ทฤษฎีนี้เน้นเกี่ยวกับความเข้าใจหรือการคาดคะเนเหตุการณ์ต่างๆ โดยอาศัยการกำหนดรู้ (perception) มาก่อน อาจรวมทั้งการคิดค้นและการตัดสินใจ เช่น ในกรณีที่ต้องมีการเลือกสิ่งของที่มีคุณค่า ใกล้เคียงกัน การกระตุ้นก็ดีหรือพฤติกรรมที่กำลังดำเนินไปสู่เป้าประสงค์ (goal-seeking behavior) ก็ดีเกิดจากความรู้ ที่เคยพบมาเป็น ตัวกำหนด นอกจากนั้นยังต้องอาศัยเหตุการณ์ในอดีต สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันและความคาดหวังในอนาคต
Festinger (1957) ได้อธิบายเกี่ยวกับความขัดแย้งหรือความไม่ลงรอยกันของการรู้ (cognitive dissonance) ซึ่งมีผลทำให้เกิด แรงจูงใจ ในการเปลี่ยนพฤติกรรม บางอย่างได้ เช่น คนที่ติดบุหรี่ สูบบุหรี่จัดเมื่อทราบข่าวว่า การสูบบุหรี่มีส่วนทำให้เกิดเป็น มะเร็งของปอด เกิดความขัดแย้งระหว่างพฤติกรรมของการสูบบุหรี่กับข่าวใหม่ เขาจะต้องเลือกเอา อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อลดความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้น ถ้าเขาตัดสินใจเลิกสูบบุหรี่ความขัดแย้งจะลดลงไปโดยการเลิกความเชื่อเดิมที่ว่าสูบบุหรี่แล้วจะปลอดภัย รวมทั้งความอยากที่จะสูบอีกด้วย
7. ทฤษฎีเกี่ยวกับจิตวิญญาณ (Spiritual theory)
เป็นทฤษฎีที่เกี่ยวกับกฎแห่งกรรมในพุทธศาสนา จำลอง ดิษยวณิช (2545) ได้อธิบายความหมายของคำว่าจิตวิญญาณ ไว้ดังนี้ "จิตวิญญาณ หมายถึง ภวังคจิต (the life continuum) ในพุทธศาสนา หรือจิตไร้สำนึก (the unconscious) ในจิตวิเคราะห์ " จิตวิญญาณ ซึ่งเป็นส่วนลึกภายในจิตใจของมนุษย์มีแรงจูงใจที่ทรงพลังอย่างหนึ่งคือ"กรรม" กรรมเป็นการกระทำของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นทางใจ ทางวาจา หรือทางกาย ถ้ากระทำกรรมดีก็จะส่งผลไปในทางที่ดี ถ้ากระทำกรรมชั่วก็จะส่งผลไปในทางที่ไม่ดี ทำกรรมเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น สมดังคำกล่าวว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" พลังกรรมและผลของกรรมถือว่า เป็นแรงจูงใจ ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในชีวิตประจำวันของคนเรา และถูกเก็บสั่งสมไว้ในจิตไร้สำนึก ความสุขจะเกิดขึ้นได้เพราะ เป็นผลของการ กระทำกรรมดี แต่ในทางตรงกันข้ามความทุกข์จะเกิดขึ้น เนื่องจากผลของการกระทำกรรมที่ไม่ดี

วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความหมายของนวัตกรรม

        "นวัตกรรม (Innovation)" เป็นคำที่เรารู้สึกคุ้นหูมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว และคำสั้นๆคำนี้นั้นได้สร้างคุณประโยชน์มากมายแก่มวลมนุษย์ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับ ความหมายของ คำว่า "นวัตกรรม" และคำนิยามจากนักการศึกษาที่ได้ให้คำนิยามไว้ เพื่อความเข้าใจและความพร้อมที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับ"นวัตกรรม" ในด้านอื่นๆต่อไป 
        “นวัตกรรม” เป็นศัพท์บัญญัติทางการศึกษา ดังปรากฎหลักฐานในหนังสือประมวลศัพท์บัญญัติวิชาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ หน้า 95 คำที่ 368 ใช้แทนคำ Innovation  ในภาษาอังกฤษ    ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า Innovare แปลว่า to renew หรือ to modify หมายถึง “ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา”ส่วนคำว่า “นวัตกรรม” มีรากศัพท์มาจาก นว + อตต (บาลี)= ใหม่ +กรรม (สันสกฤต)= การกระทำ การปฏิบัติ ความคิด หมายถึง ความคิดหรือการกระทำใหม่ๆที่นำมาใช้แก้ปัญหาในการปฏิบัติงานด้านต่างๆ (สมบูรณ์ สงวนญาติ, 2534: 14)

นักการศึกษาหลายท่านให้คำนิยามของคำว่า นวัตกรรม ตัวอย่างดังนี้

          ทอมัส ฮิวช์ (Thomas  Hughes, 1971) ได้ให้ความหมาย “นวัตกรรม” ว่าเป็นการนำวิธีการใหม่ๆมาปฏิบัติหลังจากได้ผ่านการทดลองหรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้นๆแล้ว โดยเริ่มมาตั้งแต่การคิดค้น (Invention) การพัฒนา (Development) ซึ่งอาจมีการทดลองปฏิบัติมาก่อน(Pilot project) แล้วจึงนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งแตกต่างไปจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา

         มอร์ตัน (J.A. Morton, 1973) ให้คำนิยามของคำว่า “นวัตกรรม” ไว้ในหนังสือ Organizing for Innovation ของเขาว่า นวัตกรรม หมายถึง การทำให้ใหม่ขึ้นอีกครั้ง (Renewal) ซึ่งหมายถึงการปรับปรุงของเก่าและการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ตลอดจนหน่วยงานหรือองค์การนั้นๆ นวัตกรรมไม่ใช่การขจัดหรือล้มล้างสิ่งเก่าให้หมดไปแต่เป็นการปรับปรุงเสริมแต่งและพัฒนาเพื่อความอยู่รอดของระบบ

       ไมล์  แมทธิว ( Miles Matthew B. อ้างถึงใน ไชยยศ เรืองสุวรรณ. 2521 : 14) ได้กล่าวถึงนวัตกรรมไว้ในเรื่อง Innovation in Education ว่า “นวัตกรรม หมายถึง การเปลี่ยนแปลงแนวคิดอย่างถ้วนถี่ การเปลี่ยนแปลงให้ใหม่ขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เป้าหมายของระบบบรรลุผล”

       โรเจอร์และชูเมคเกอร์ (Rogers and Shoemaker.1971 : 19) ให้ความหมาย “นวัตกรรม” ว่าเป็นการนำเอาวิธีการใหม่ๆมาปฏิบัติ ซึ่งผ่านการทดลองและได้รับการพัฒนาเป็นขั้นๆ ตั้งแต่การคิดค้น (Invention) การพัฒนา (Development) และการทดลองในวงแคบ (Pilot Project) แล้วจึงนำมาใช้ปฏิบัติจริง โดยการปฏิบัติจะแตกต่างจากเดิม

      โรเจอร์ส (Everette M. Rogers 1983 : 11) ได้ให้ความหมายของคำว่า “นวัตกรรม (Innovation)” ว่าคือ ความคิด การกระทำ หรือวัตถุใหม่ๆ ซึ่งถูกรับรู้ว่าเป็นสิ่งใหม่ๆด้วยตัวบุคคลแต่ละคนหรือหน่วยงานอื่นๆของการยอมรับในสังคม (Innovation is a new idea, practice or object, that is perceived as new by the individual or other unit of adoption )

      บุญเกื้อ ควรหาเวช (2543 : 14 ) ได้กล่าวถึงการพิจารณากระบวนการของนวัตกรรม อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 มีการประดิษฐ์คิดค้น (Innovation) ขึ้นมาใหม่หรือเป็นการปรุงแต่งของเก่าให้ใหม่และเหมาะสมกับกาลสมัย
ระยะที่ 2 พัฒนาการ (Development) มีการทดลองในแหล่งทดลองจัดทำอยู่ในลักษณะของโครงการปฏิบัติก่อน
ระยะที่ 3 การนำไปปฏิบัติในสถานการณ์ทั่วไป จัดว่าเป็นนวัตกรรมที่สมบูรณ์

      กิดานันท์ มลิทอง (2543 : 255-278) ให้ความหมายว่า “นวัตกรรม” เป็นแนวความคิด การปฏิบัติหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆที่ยังไม่เคยมีใครใช้มาก่อนหรือเป็นการ พัฒนาดัดแปลงจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วยประหยัดเวลาและแรงงานอีกด้วย

      พันธุ์อาจ  ชัยรัตน์ (2547) ได้กล่าวถึงความหมายของนวัตกรรมไว้ดังนี้
ความหมายของนวัตกรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์ คือ การนำแนวคิดใหม่ หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ในรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ รวมทั้งได้กล่าวว่า
ความหมายในเชิงแคบของนวัตกรรม คือ ผลผลิตของความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับพลวัฒของกิจกรรมทางสังคม
ความหมายในเชิงกว้าง หมายถึง แนวความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งต่างๆที่ใหม่ต่อตัวปัจเจก หรือหน่วยที่รับเอาสิ่งเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้  การรวมเอากิจกรรมที่นำไปสู่การแสวงหาความสำเร็จเชิงพาณิชย์ การสร้างตลาดใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการและการบริการใหม่ การทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวให้กลายมาเป็นโอกาสและนำไปสู่แนวคิดใหม่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

            ดังนั้น “นวัตกรรม (Innovation)” จึงหมายถึง “สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นจากการใช้ความรู้ ความสามารถ ทักษะประสบการณ์และความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสิ่งใดๆ อาจเป็นสิ่งที่มีอยู่เดิมแต่พัฒนาต่อยอดหรือเป็นสิ่งที่คิดค้นขึ้นใหม่ ซึ่งอาจจะมีลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ หรือกระบวนการใหม่ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม” ซึ่งสอดคล้องกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (2549) ที่ได้ให้ความหมายของนวัตกรรมไว้ว่า “นวัตกรรม” คือ “สิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม”


อ้างอิง  - วารสารบริหารธุรกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 128 ตุลาคม - ธันวาคม 2553 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประวัติส่วนตัว




  
ชื่อ - สกุล :    นางวรรณี  ชิตเดชะ
อาชีพปัจจุบัน : รับราชการครู
ตำแหน่ง:  ครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ โรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช"ณ นครอุทิศ"
การศึกษา: ศิลปศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพมหานคร
Facebook :   wannee chitdecha  
เบอร์โทรศัพท์ : 086-2836108