วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความหมายของนวัตกรรม

        "นวัตกรรม (Innovation)" เป็นคำที่เรารู้สึกคุ้นหูมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว และคำสั้นๆคำนี้นั้นได้สร้างคุณประโยชน์มากมายแก่มวลมนุษย์ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับ ความหมายของ คำว่า "นวัตกรรม" และคำนิยามจากนักการศึกษาที่ได้ให้คำนิยามไว้ เพื่อความเข้าใจและความพร้อมที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับ"นวัตกรรม" ในด้านอื่นๆต่อไป 
        “นวัตกรรม” เป็นศัพท์บัญญัติทางการศึกษา ดังปรากฎหลักฐานในหนังสือประมวลศัพท์บัญญัติวิชาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ หน้า 95 คำที่ 368 ใช้แทนคำ Innovation  ในภาษาอังกฤษ    ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า Innovare แปลว่า to renew หรือ to modify หมายถึง “ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา”ส่วนคำว่า “นวัตกรรม” มีรากศัพท์มาจาก นว + อตต (บาลี)= ใหม่ +กรรม (สันสกฤต)= การกระทำ การปฏิบัติ ความคิด หมายถึง ความคิดหรือการกระทำใหม่ๆที่นำมาใช้แก้ปัญหาในการปฏิบัติงานด้านต่างๆ (สมบูรณ์ สงวนญาติ, 2534: 14)

นักการศึกษาหลายท่านให้คำนิยามของคำว่า นวัตกรรม ตัวอย่างดังนี้

          ทอมัส ฮิวช์ (Thomas  Hughes, 1971) ได้ให้ความหมาย “นวัตกรรม” ว่าเป็นการนำวิธีการใหม่ๆมาปฏิบัติหลังจากได้ผ่านการทดลองหรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้นๆแล้ว โดยเริ่มมาตั้งแต่การคิดค้น (Invention) การพัฒนา (Development) ซึ่งอาจมีการทดลองปฏิบัติมาก่อน(Pilot project) แล้วจึงนำไปปฏิบัติจริง ซึ่งแตกต่างไปจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา

         มอร์ตัน (J.A. Morton, 1973) ให้คำนิยามของคำว่า “นวัตกรรม” ไว้ในหนังสือ Organizing for Innovation ของเขาว่า นวัตกรรม หมายถึง การทำให้ใหม่ขึ้นอีกครั้ง (Renewal) ซึ่งหมายถึงการปรับปรุงของเก่าและการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ตลอดจนหน่วยงานหรือองค์การนั้นๆ นวัตกรรมไม่ใช่การขจัดหรือล้มล้างสิ่งเก่าให้หมดไปแต่เป็นการปรับปรุงเสริมแต่งและพัฒนาเพื่อความอยู่รอดของระบบ

       ไมล์  แมทธิว ( Miles Matthew B. อ้างถึงใน ไชยยศ เรืองสุวรรณ. 2521 : 14) ได้กล่าวถึงนวัตกรรมไว้ในเรื่อง Innovation in Education ว่า “นวัตกรรม หมายถึง การเปลี่ยนแปลงแนวคิดอย่างถ้วนถี่ การเปลี่ยนแปลงให้ใหม่ขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เป้าหมายของระบบบรรลุผล”

       โรเจอร์และชูเมคเกอร์ (Rogers and Shoemaker.1971 : 19) ให้ความหมาย “นวัตกรรม” ว่าเป็นการนำเอาวิธีการใหม่ๆมาปฏิบัติ ซึ่งผ่านการทดลองและได้รับการพัฒนาเป็นขั้นๆ ตั้งแต่การคิดค้น (Invention) การพัฒนา (Development) และการทดลองในวงแคบ (Pilot Project) แล้วจึงนำมาใช้ปฏิบัติจริง โดยการปฏิบัติจะแตกต่างจากเดิม

      โรเจอร์ส (Everette M. Rogers 1983 : 11) ได้ให้ความหมายของคำว่า “นวัตกรรม (Innovation)” ว่าคือ ความคิด การกระทำ หรือวัตถุใหม่ๆ ซึ่งถูกรับรู้ว่าเป็นสิ่งใหม่ๆด้วยตัวบุคคลแต่ละคนหรือหน่วยงานอื่นๆของการยอมรับในสังคม (Innovation is a new idea, practice or object, that is perceived as new by the individual or other unit of adoption )

      บุญเกื้อ ควรหาเวช (2543 : 14 ) ได้กล่าวถึงการพิจารณากระบวนการของนวัตกรรม อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 มีการประดิษฐ์คิดค้น (Innovation) ขึ้นมาใหม่หรือเป็นการปรุงแต่งของเก่าให้ใหม่และเหมาะสมกับกาลสมัย
ระยะที่ 2 พัฒนาการ (Development) มีการทดลองในแหล่งทดลองจัดทำอยู่ในลักษณะของโครงการปฏิบัติก่อน
ระยะที่ 3 การนำไปปฏิบัติในสถานการณ์ทั่วไป จัดว่าเป็นนวัตกรรมที่สมบูรณ์

      กิดานันท์ มลิทอง (2543 : 255-278) ให้ความหมายว่า “นวัตกรรม” เป็นแนวความคิด การปฏิบัติหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆที่ยังไม่เคยมีใครใช้มาก่อนหรือเป็นการ พัฒนาดัดแปลงจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วยประหยัดเวลาและแรงงานอีกด้วย

      พันธุ์อาจ  ชัยรัตน์ (2547) ได้กล่าวถึงความหมายของนวัตกรรมไว้ดังนี้
ความหมายของนวัตกรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์ คือ การนำแนวคิดใหม่ หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ในรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ รวมทั้งได้กล่าวว่า
ความหมายในเชิงแคบของนวัตกรรม คือ ผลผลิตของความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับพลวัฒของกิจกรรมทางสังคม
ความหมายในเชิงกว้าง หมายถึง แนวความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งต่างๆที่ใหม่ต่อตัวปัจเจก หรือหน่วยที่รับเอาสิ่งเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้  การรวมเอากิจกรรมที่นำไปสู่การแสวงหาความสำเร็จเชิงพาณิชย์ การสร้างตลาดใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการและการบริการใหม่ การทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวให้กลายมาเป็นโอกาสและนำไปสู่แนวคิดใหม่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

            ดังนั้น “นวัตกรรม (Innovation)” จึงหมายถึง “สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นจากการใช้ความรู้ ความสามารถ ทักษะประสบการณ์และความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสิ่งใดๆ อาจเป็นสิ่งที่มีอยู่เดิมแต่พัฒนาต่อยอดหรือเป็นสิ่งที่คิดค้นขึ้นใหม่ ซึ่งอาจจะมีลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ หรือกระบวนการใหม่ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม” ซึ่งสอดคล้องกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (2549) ที่ได้ให้ความหมายของนวัตกรรมไว้ว่า “นวัตกรรม” คือ “สิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม”


อ้างอิง  - วารสารบริหารธุรกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 128 ตุลาคม - ธันวาคม 2553 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น